Pictogram

Pictogram ทำหน้าที่ดึงดูดสายตา ใช้แทนหรือเสริมคำพูด 
เช่นเดียวกับ Infographic ที่ช่วยให้การสื่อสารข้อมูลเป็นไปอย่างราบรื่น


Pictogram หรือ แผนภูมิรูปภาพ คือ กราฟฟิกที่ใช้แทนหรือเสริมคำพูด ซึ่งช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดังนี้

● มีพื้นที่อธิบายด้วยตัวอักษรไม่พอ
● ไม่มีเวลาในการอธิบายอย่างละเอียด
● ใช้คำพูดสื่อสารไม่เข้าใจ

Pictogram ช่วยประหยัดพื้นที่ ร่นระยะเวลาให้สั้นลง ใช้แทนสิ่งที่ใช้คำพูดสื่อสารไม่ได้ โดยจับเอาใจความสำคัญของสิ่งที่อยากจะสื่อมา 'แปลงเป็นภาพ'

ดังนั้น เราจึงสามารถเพิ่มทักษะการวิเคราะห์และการออกแบบได้ผ่านการทำ Pictogram
.....

ทักษะที่จำเป็นในการการทำ Pictogram


ดังที่เห็นกันว่า Pictogram คือ การทำรูปกราฟฟิก แน่นอนว่าต้องมีทักษะด้านการดีไซน์ก่อน บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์ด้วย มาลองคิดกันดูว่า ถ้าเราจะออกแบบ Pictogram ที่ใช้สื่อถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เราจำเป็นต้องวิเคราะห์อะไรบ้าง?

การวิ่งมาราธอน การวิ่ง 100 เมตร หรือกีฬาทุ่มน้ำหนัก ใช้สื่อแทนกีฬาบนบกทั้งหมดได้ไหม มันต่างกับกีฬายูโดหรือมวยปล้ำอย่างไร? ถ้าไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน ต่อให้มีฝีมือในการออกแบบแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำ Pictogram ที่ดีออกมาได้

.....

ที่มา: Basic Infographic

เขียน: Jun Sakurada
แปล: ณิชมน หิรัญพฤกษ์

Landmark

ไม่ว่าจะธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างสรรค์ จุดสังเกตที่เรียกติดปากว่า แลนด์มาร์ก ล้วนมีประโยชน์ใช้สอยจากสถานที่ตั้ง และรูปลักษณ์อันดึงดูดชวนให้จดจำเป็นสำคัญ 

ในอดีตผู้คนใช้แลนด์มาร์กเป็นเครื่องมือและเครื่องหมายปักหมุดการเดินทาง นานวันเข้า จากเพียงจุดบอกตำแหน่ง แลนด์มาร์กที่สามารถยืนหยัดท้าทายกาลเวลา ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนต้องดั้นด้นมาเยี่ยมเยือน

เมื่อคำว่าแลนด์มาร์กยังเท่ากับสถานที่ท่องเที่ยว เมืองใหญ่หลายเมือง และเทศกาลงานแฟร์ต่างๆ ทั่วโลก จึงวางแผนเลือกนักออกแบบหรือสถาปนิกมีชื่อให้มารังสรรค์อาคาร อนุสาวรีย์ หรืองานศิลปะ เพื่อหมายจะสร้างแลนด์มาร์กยิ่งใหญ่ ประชาสัมพันธ์ให้เมืองหรืองานของตนเป็นที่กล่าวขวัญต่อไปในอนาคต




● Cape of Good Hope

แหลมกู๊ดโฮป นอกชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่ไกลจากเคปทาวน์ ในประเทศแอฟริกาใต้ คือหนึ่งในแลนด์มาร์กธรรมชาติที่โด่งดังที่สุดในโลก 

แม้จะไม่ใช่แหลมปลายสุดของแอฟริกาซึ่งเป็นจุดที่มหาสมุทรแอตแลนติกปะทะกับมหาสมุทรอินเดีย (แหลมปลายสุด คือแหลมอะกูลัส) แต่แหลมกู๊ดโฮปกลับมีความสำคัญทางจิตใจต่อนักเดินเรือมาก ตั้งแต่สมัยบาร์โตโลมิว ดิแอซ (Bartolomeu Dias) นักสำรวจชาวโปรตุเกส ที่ได้ค้นพบเส้นทางเดินเรือมายังโลกตะวันออกไกลในปี 1488 เพราะเป็นสัญลักษณ์แรกที่บอกว่า จากนี้ไป แทนที่จะล่องลงใต้ เส้นทางเรือจะเริ่มบ่ายทิศไปทางตะวันออกเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย
.....

● Sydney Opera House

เมื่อสร้างเสร็จในปี 1973 โรงอุปรากรซิดนีย์ คือสัญลักษณ์แห่งงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในออสเตรเลีย 

ยอร์น อุตซอน (Jorn Utzon) สถาปนิกผู้ออกแบบ ชาวเดนมาร์ก เขาเข้าใจและเล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งมีฉากหลังเป็นอ่าวซิดนีย์อันงดงาม เขาออกแบบโรงอุปรากรให้โดดเด่นเป็นงานประติมากรรมที่แปลกตา และยังกลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งกลางวันและกลางคืน จนเป็นสมบัติของชาติที่ชาวออสเตรเลียรักและภูมิใจ แม้จะมีอายุเพียงไม่ถึงครึ่งศตวรรษ แต่อาคารหลังงามก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกตั้งแต่ปี 2007
.....

● Christ the Redeemer

ตั้งแต่ปี 1931 ไครส์ เดอะ รีดีมเมอร์ เป็นประติมากรรมอาร์ต เดโคทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก รูปปั้นพระเยซูสูง 30 เมตร สร้างจากหินสบู่และคอนกรีตเสริมแรง ตั้งอยู่บนเขากอร์โวกาโด สูงเหนือเมืองริโอ เดอ จาเนโร ถึง 2,310 ฟุต 

ซึ่งถูกออกแบบมาให้ทุกคนสามารถมองเห็นได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ในบราซิล อันสะท้อนให้เห็นพลังสร้างสรรค์จากศรัทธาอันน่าทึ่ง
.....

● Eiffel Tower

หอไอเฟล เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 31 มีนาคม ปี 1889 ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ในงานมหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในปีนั้น

แม้คำวิจารณ์ต่อโครงสร้างเหล็กสูง 300 เมตร ที่นับว่าสูงที่สุดในโลกตอนนั้น จะมีทั้งบวกและลบ แต่สัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ได้กลายเป็นแลนมาร์กอันดับหนึ่งของฝรั่งเศส ที่แต่ละปีมีผู้มาเยี่ยมชมจากทั่วโลกเกือบเจ็ดล้านคน ทำให้เป็นอนุสาวรีย์ที่มีการเก็บค่าเข้าชม ที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก
…..


ที่มา: Creative Thailand Magazine | November 2014

เรื่อง: นันท์นรี พานิชกุล
ภาพ: เบญจ แดงบุบผา

Graphic Design Thinking

นักออกแบบคิดอย่างไร




















Elizabeth Herrmann สถาปนิกและนักออกแบบ ได้สัมภาษณ์บุคคลต่างๆ เกี่ยวกับงานที่พวกเขาทำ 
หนึ่งในนั้นคือ David Barringer ซึ่งเป็นทั้งนักออกแบบ อาจารย์ และนักเขียน


คุณปรับปรุงงานอย่างไร?

เดวิด บาร์ริงเกอร์ — ผมปรับปรุงงานอย่างไร? ผมฝัน ผมคิดสด ผมล้ม และผมก็เริ่มต้นใหม่ 

ถ้าคุณเป็นคนที่ยึดติดกับหลักการหรือแนวคิด เช่น แนวคิดสมัยใหม่ (Modernism) แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) แนวคิดนิยมความจริง (Realism) คุณจะสามารถแก้ปัญหาในฉับเดียว โดยไม่ผ่านการแก้ไขหรือปรับปรุงงาน หรืออีกนัยหนึ่ง คือคุณสร้างเงื่อนไขให้กับงานและใช้วิธีแก้งานแบบเดิมๆ กับงานออกแบบโดยไม่คิดหาหนทางอื่นๆ คล้ายกับทนายที่ว่าความตรงตามตัวบทกฎหมาย ไม่มีบิดพลิ้ว

สำหรับตัวผมเอง ผมไม่เคยคิดเดินตามแนวคิดแบบนั้นเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า ผมไม่ใช่ทนาย หรือแม้แต่ผู้พิพากษา

ผมมีทริก มีกลยุทธ์ และแนวคิดมากมายที่พรั่งพรูออกมา แต่ผมเลือกที่จะหยุดการออกแบบหน้าปกหนังสือไว้เพียงแค่นั้น โดยให้ทราบเนื้อหาข้างในเพียงคร่าวๆ และเน้นไปที่อารมณ์ โทน การจัดองค์ประกอบให้ดูเหมาะสมมากกว่า

ผมงมอยู่กับวิธีหลากหลายรูปแบบ เพราะไม่เคยมีกฎเขียนเอาไว้ และเครื่องมือออกแบบมันก็มากมายเกินไป และผมก็ต้องหาวิธีหยุดตัวเองไม่ให้ฟุ้งซ่านไปพร้อมๆ กันด้วย โดยอาจตั้งเงื่อนไขการออกแบบ เช่น ใช้เฉพาะสีขาวดำ หรือต้องออกแบบด้วยมือทั้งหมด ใช้ภาพประกอบโดยจัดตัวอักษรชิดขอบซ้าย หรือออกแบบแนวการ์ตูนที่ใช้สีสันฉูดฉาด หรือเปลี่ยนสัดส่วน
.....

การฝึกฝนจะช่วยสร้างแนวทางที่เป็นไปได้ ช่วยให้ไม่หลุดออกนอกลู่นอกทางมากนัก สามารถก้าวเดินได้ตามใจปรารถนา และนั่นรวมถึงการก้าวไปข้างหน้าและก้าวถอยหลัง ดังนั้น ตอนที่ผมวุ่นกับการหาข้อจำกัด ผมก็สามารถเข้าใจได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ผมมีอยู่ อะไรคือสิ่งที่ผมจะนำไปใช้งานได้ บางทีมันอาจเป็นอะไรที่ดูง่ายๆ เช่น การเลือกรูปประกอบ หรือตอนที่คิดจะทำอะไรที่ยังไม่เคยทำมาก่อน

ส่วนที่สนุกที่สุดสำหรับผม คือตอนที่ออกไปหาแรงบันดาลใจ หาข้อจำกัดของเครื่องมือที่มี ซึ่งก็ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ กลับมาด้วย

ผมเคยปวดหัวกับการออกแบบหน้าปกหนังสือบางเล่ม จนต้องย้อนกลับไปดูแบบร่างเก่าๆ ที่เคยทำมา ซึ่งทำให้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น รูปแบบของหน้าปก อารมณ์ เครื่องมือที่ใช้ มุมมอง ซึ่งผมต้องนำสิ่งเหล่านี้มาปรับแก้ และเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุด

ซึ่งการเลือกสรร เป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป ถ้าผลงานที่ออกมาไม่โดดเด่นในสายตาของผม ผมจะคิดเสมอว่า ผลงานทั้งหมดนั้นเอาไปใช้ไม่ได้ สมมติว่าผมมีปกหนังสือสักสามสิบแบบ แต่ยังไม่ถูกใจสักแบบ ผมจะถือว่าทั้งหมดคือความล้มเหลว และผมก็จะมุ่งหน้าออกแบบปกเพิ่มเติม
.....

การออกแบบหน้าปกที่ดี คือการเชื่อมโยงองค์ประกอบเข้ากับเนื้อหาที่ต้องการสื่อ โดยไม่จำเป็นจะต้องสื่อความให้ตรงกับเนื้อหาแบบทุกตัวอักษร

"แต่จงสร้างรูปแบบที่เป็นตัวแทนของเนื้อหา"

ซึ่งมันจะสามารถถ่ายทอดความหมายได้ดีกว่า และจะช่วยให้คนเมื่อเห็นหน้าปกแล้วรู้สึกอยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน และมันจะประสบความสำเร็จสูงสุด หากเขาอ่านหนังสือจนจบแล้วกลับมาดูหน้าปก และรู้สึกว่าหน้าปกมันสามารถสรุปเรื่องราวทั้งหมดของหนังสือได้ 
นั่นแหละคือคุณค่าของการออกแบบที่แท้จริง

มันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในการตัดสินว่า ผลงานไหนดี ผลงานไหนไม่ดีหรอก มันขึ้นอยู่กับวิธีการสร้างผลงานนั้นต่างหาก การตัดสินที่ผลงานสุดท้ายทีเดียว ก็เหมือนกับเราเห็นภูเขาอยู่เบื้องหน้าแต่มีหมอกมาบังไว้ แม้ว่าเราจะรู้ว่ามันมีภูเขาอยู่ แต่เราไม่รู้หรอกว่าเส้นทางไหนที่จะทำให้เราไปถึงยอดเขานั้น คุณต้องออกแรงปีนป่ายมันเอง

สุดท้ายแล้ว เราอาจจะได้เจอกับภูเขาลูกใหม่ หรือเจอกับม่านหมอกใหม่ๆ อีกมากมาย
.....


ที่มา: Graphic Design Thinking
Ellen Lupton เขียน
จุติพงศ์ ภูสุมาส แปล

ภาพประกอบ: David Barringer

Less is More

ในฐานะที่ทำงานในด้านนี้ และผมก็เป็นคน 'บ้าบอล' อยู่แล้ว ก็เลยจะสนใจเรื่องตราสโมสรหรือโลโก้ทีมฟุตบอลเป็นพิเศษ
ยังจำได้ว่า ตอนเด็กๆ จะชอบหาภาพโลโก้ทีมฟุตบอลจากหนังสือสตาร์ซ็อคเกอร์มาเป็นแบบวาดเล่นเป็นประจำ โลโก้ที่ชอบวาดก็มีสเปอร์ส เชฟฟิลด์ เวนสเดย์ เอฟเวอร์ตัน ฯ (เพราะวาดง่าย)


อยากยกตัวอย่างโลโก้ที่เข้ากับแนวทางการออกแบบที่เรียกว่า Less is More = น้อยเป็นดี
บางครั้ง สัญลักษณ์องค์กร มันบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพได้เหมือนกันนะครับ เพราะแสดงถึง 'ความใส่ใจ' ในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่

จะเห็นได้ว่าโลโก้ของทีม ชลบุรี นั้นดูเรียบง่าย ตอบโจทย์ ไม่ซ้ำซาก และเป็นเอกลักษณ์
องค์ประกอบโลโก้ของชลบุรี มีดังนี้
1) ฉลาม เป็นสัญลักษณ์หลักดั้งเดิมอยู่แล้ว
2) สีฟ้า (แถบตรงหัวฉลาม) สื่อถึง ท้องฟ้า
3) สีน้ำเงิน สื่อถึง น้ำทะเล
4) ชื่อทีม + คำบอกประเภทองค์กร ซึ่งเขาก็ใช้ภาษาอังกฤษ Football Club คำเดียวจบ ไม่ต้องใช้ เอฟซง เอฟซี อะไรให้มากมายเหมือนทีมอื่น ถ้าจะใช้ภาษาไทย ก็ใช้คำว่า สโมสรฟุตบอล ไปเลยไม่ต้องมี เอฟซี. อีก (นึกภาพโลโก้ ทีมเพชรบุรี หรือการท่าเรือ)

สรุปคือ โลโก้ องค์ประกอบยิ่งน้อย ยิ่งดี

ครั้งแรกที่เห็นรู้เลยว่า ทีมนี้มีวิสัยทัศน์ เพราะเขากล้าแหวกขนบการออกแบบโลโก้ทีมในหลายๆ อย่างที่ทีมอื่นใช้กันจนเกร่อ เช่น
- รูปทรงที่ต้องเป็นวงกลม หรือ รูปโล่
- ต้องมีรูปลูกฟุตบอล
- มีสัตว์สัญลักษณ์ยืนสองข้าง (แนวนี้อาจได้มาจากทีมในอังกฤษ)
- ใช้ตัวอักษรย่อ (นึกภาพโลโก้ Fulham, Bangkok United)
- ปีก (นึกภาพโลโก้ Bangkok United อีกนั่นแหละ)
- ดาว (บางทีก็ไม่มีความหมาย ใส่ไปทำไม)
- ช่อมะกอก (รู้ว่าสื่อถึงกีฬา แต่บางทีมันก็รกไป)
- โลโก้แบบแบ่งเป็น 4 ช่อง เหมือนโลโก้โรงเรียน/มหาวิทยาลัย (นึกภาพโลโก้ ทีมราชบุรี)
- ป้ายชื่อโค้งๆ หรือ เป็นแถบริบบิ้น (ซึ่งบางทีอาจไม่ต้องมีก็ได้ มีแค่ตัวอักษรชื่อทีมข้างล่างสัญลักษณ์ อาจจะดูเรียบง่ายกว่า)
...