Graphic Design Thinking
นักออกแบบคิดอย่างไร
Elizabeth Herrmann สถาปนิกและนักออกแบบ ได้สัมภาษณ์บุคคลต่างๆ เกี่ยวกับงานที่พวกเขาทำ
หนึ่งในนั้นคือ David Barringer ซึ่งเป็นทั้งนักออกแบบ อาจารย์ และนักเขียน
คุณปรับปรุงงานอย่างไร?
เดวิด บาร์ริงเกอร์ — ผมปรับปรุงงานอย่างไร? ผมฝัน ผมคิดสด ผมล้ม และผมก็เริ่มต้นใหม่
ถ้าคุณเป็นคนที่ยึดติดกับหลักการหรือแนวคิด เช่น แนวคิดสมัยใหม่ (Modernism) แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) แนวคิดนิยมความจริง (Realism) คุณจะสามารถแก้ปัญหาในฉับเดียว โดยไม่ผ่านการแก้ไขหรือปรับปรุงงาน หรืออีกนัยหนึ่ง คือคุณสร้างเงื่อนไขให้กับงานและใช้วิธีแก้งานแบบเดิมๆ กับงานออกแบบโดยไม่คิดหาหนทางอื่นๆ คล้ายกับทนายที่ว่าความตรงตามตัวบทกฎหมาย ไม่มีบิดพลิ้ว
สำหรับตัวผมเอง ผมไม่เคยคิดเดินตามแนวคิดแบบนั้นเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า ผมไม่ใช่ทนาย หรือแม้แต่ผู้พิพากษา
ผมมีทริก มีกลยุทธ์ และแนวคิดมากมายที่พรั่งพรูออกมา แต่ผมเลือกที่จะหยุดการออกแบบหน้าปกหนังสือไว้เพียงแค่นั้น โดยให้ทราบเนื้อหาข้างในเพียงคร่าวๆ และเน้นไปที่อารมณ์ โทน การจัดองค์ประกอบให้ดูเหมาะสมมากกว่า
ผมงมอยู่กับวิธีหลากหลายรูปแบบ เพราะไม่เคยมีกฎเขียนเอาไว้ และเครื่องมือออกแบบมันก็มากมายเกินไป และผมก็ต้องหาวิธีหยุดตัวเองไม่ให้ฟุ้งซ่านไปพร้อมๆ กันด้วย โดยอาจตั้งเงื่อนไขการออกแบบ เช่น ใช้เฉพาะสีขาวดำ หรือต้องออกแบบด้วยมือทั้งหมด ใช้ภาพประกอบโดยจัดตัวอักษรชิดขอบซ้าย หรือออกแบบแนวการ์ตูนที่ใช้สีสันฉูดฉาด หรือเปลี่ยนสัดส่วน
.....
การฝึกฝนจะช่วยสร้างแนวทางที่เป็นไปได้ ช่วยให้ไม่หลุดออกนอกลู่นอกทางมากนัก สามารถก้าวเดินได้ตามใจปรารถนา และนั่นรวมถึงการก้าวไปข้างหน้าและก้าวถอยหลัง ดังนั้น ตอนที่ผมวุ่นกับการหาข้อจำกัด ผมก็สามารถเข้าใจได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ผมมีอยู่ อะไรคือสิ่งที่ผมจะนำไปใช้งานได้ บางทีมันอาจเป็นอะไรที่ดูง่ายๆ เช่น การเลือกรูปประกอบ หรือตอนที่คิดจะทำอะไรที่ยังไม่เคยทำมาก่อน
ส่วนที่สนุกที่สุดสำหรับผม คือตอนที่ออกไปหาแรงบันดาลใจ หาข้อจำกัดของเครื่องมือที่มี ซึ่งก็ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ กลับมาด้วย
ผมเคยปวดหัวกับการออกแบบหน้าปกหนังสือบางเล่ม จนต้องย้อนกลับไปดูแบบร่างเก่าๆ ที่เคยทำมา ซึ่งทำให้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น รูปแบบของหน้าปก อารมณ์ เครื่องมือที่ใช้ มุมมอง ซึ่งผมต้องนำสิ่งเหล่านี้มาปรับแก้ และเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุด
ซึ่งการเลือกสรร เป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป ถ้าผลงานที่ออกมาไม่โดดเด่นในสายตาของผม ผมจะคิดเสมอว่า ผลงานทั้งหมดนั้นเอาไปใช้ไม่ได้ สมมติว่าผมมีปกหนังสือสักสามสิบแบบ แต่ยังไม่ถูกใจสักแบบ ผมจะถือว่าทั้งหมดคือความล้มเหลว และผมก็จะมุ่งหน้าออกแบบปกเพิ่มเติม
.....
การออกแบบหน้าปกที่ดี คือการเชื่อมโยงองค์ประกอบเข้ากับเนื้อหาที่ต้องการสื่อ โดยไม่จำเป็นจะต้องสื่อความให้ตรงกับเนื้อหาแบบทุกตัวอักษร
"แต่จงสร้างรูปแบบที่เป็นตัวแทนของเนื้อหา"
ซึ่งมันจะสามารถถ่ายทอดความหมายได้ดีกว่า และจะช่วยให้คนเมื่อเห็นหน้าปกแล้วรู้สึกอยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน และมันจะประสบความสำเร็จสูงสุด หากเขาอ่านหนังสือจนจบแล้วกลับมาดูหน้าปก และรู้สึกว่าหน้าปกมันสามารถสรุปเรื่องราวทั้งหมดของหนังสือได้ นั่นแหละคือคุณค่าของการออกแบบที่แท้จริง
มันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในการตัดสินว่า ผลงานไหนดี ผลงานไหนไม่ดีหรอก มันขึ้นอยู่กับวิธีการสร้างผลงานนั้นต่างหาก การตัดสินที่ผลงานสุดท้ายทีเดียว ก็เหมือนกับเราเห็นภูเขาอยู่เบื้องหน้าแต่มีหมอกมาบังไว้ แม้ว่าเราจะรู้ว่ามันมีภูเขาอยู่ แต่เราไม่รู้หรอกว่าเส้นทางไหนที่จะทำให้เราไปถึงยอดเขานั้น คุณต้องออกแรงปีนป่ายมันเอง
สุดท้ายแล้ว เราอาจจะได้เจอกับภูเขาลูกใหม่ หรือเจอกับม่านหมอกใหม่ๆ อีกมากมาย
.....
ที่มา: Graphic Design Thinking
Ellen Lupton เขียน
จุติพงศ์ ภูสุมาส แปล
ภาพประกอบ: David Barringer